สถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม



วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน ตำบลในเมืองมีเนื้อที่ 25 ไร่ 2 งาน วัดพระมหาธาตุเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชั้นวรมหาวิหาร เดิมชื่อ วัดพระบรมธาตุ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศจดทะเบียนวัดพระมหาธาตุเป็นโบราณสถาน นับเป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้
ตามตำนานกล่าวว่า สร้างเมื่อปี พ.ศ.854 สร้างมามากกว่า 1,500 ปี มีศิลปะการก่อสร้างแบบศรีวิชัย โดยเจ้าชายธนกุมารและพระนางเหมชาลาและบาคู (นักบวช) ชาวลังกา เป็นผู้นำเสด็จพระบรมธาตุมาประดิษฐาน ณ หาดทรายแก้วและสร้างเจดีย์องค์เล็ก ๆ เพื่อเป็นที่หมายไว้
ต่อมาปี พ.ศ. 1093 พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช (พระเจ้าจันทรภาณุ) ได้ทำการสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น พร้อมการก่อสร้างเจดีย์ขึ้นใหม่เป็นทรงศาญจิ และในปี พ.ศ. 1770 พระองค์จึงได้รับเอาพระภิกษุจากลังกามาตั้งคณะสงฆ์และบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ให้เป็นไปตามแบบสถาปัตยกรรมทรงลังกา อันเป็นแบบที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันคือ เป็นทรงระฆังคว่ำ หรือโอคว่ำ มีปล้องไฉน 52 ปล้อง รอบพระมหาธาตุมีเจดีย์ 158 องค์ สูงจากฐานถึงยอด 37 วา 2 ศอก ยอดสุดของปล้องไฉนหุ้มทองคำเหลืองอร่าม สูง 6 วา 1 ศอก แผ่เป็นแผ่นหนาเท่าใบลานหุ้มไว้ น้ำหนัก 800 ชั่ง (หรือ 960 กิโลกรัม)
ภายในวัดพระมหาธาตุฯ วิหารที่มีความสำคัญหลายองค์ประดิษฐานอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระวิหารหลวงซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา วิหารสามจอมมีพระพุทธรูป "พระจ้าศรีธรรมโศกราช" ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ วิหารพระมหาภิเนษกรม (พระทรงม้า) ทางขึ้นไปบนลานประทักษิณ วิหารทับเกษตร วิหารเขียน และวิหารโพธิ์ลังกาซึ่งเป็นที่จัดและแสดงโบราณวัตถุ


วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร

เป็นพุทธเจดีย์สมัยศรีวิชัย สร้างตามลัทธิมหายานประมาณ พ.ศ. 1300 ในสมัยอาณาจักรศรีวิชัยกำลังรุ่งเรือง และได้แผ่อำนาจปกคลุมตลอดแหลมมลายูจนถึงเมืองไชยา ตั้งอยู่ระหว่างพระอุโบสถกับพระวิหารหลวงในบริเวณกึ่งกลาง ล้อมรอบด้วยพระระเบียงคดทั้ง 4 ด้าน ฐานพระบรมธาตุขุดเป็นสระกว้างประมาณ 50 ซ.ม. ลึกประมาณ 60-70 ซ.ม. จนเห็นฐานเดิม ก่อสร้างด้วยอิฐโบกปูน ซึ่งก่อนหน้าที่จะบูรณะในสมัยพระชยาภิวัฒน์(หนู ติส.โส) ฐานพระบรมธาตุฝังจมอยู่ระดับต่ำกว่าพื้นดิน ปัจจุบัน น้ำขังอยู่โดยรอบฐานตลอดปี บางปีในหน้าแล้ง รอบๆฐานพระบรมธาตุจะแห้ง และมีตาน้ำพุขึ้นมาจนชาวบ้านพากันแตกตื่น และ ถือว่าเป็นน้ำทิพย์ที่ ศักดิ์สิทธิ์ สามารถแก้โรคภัยต่างๆได้ ต่อมาทางวัดได้ใช้ปูนซีเมนต์ปิดจาน้ำนั้นเสีย

วัดช้างให้

ตั้งอยู่ที่ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาแล้วกว่า 300 ปี ตามตำนานกล่าวว่า พระยาแก้มดำเจ้าเมืองไทรบุรี ต้องการหาชัยภูมิสำหรับสร้างเมืองใหม่ให้กับน้องสาว จึงได้เสี่ยงอธิฐาน ปล่อยช้างให้ออกเดินทางไปในป่า โดยมีเจ้าเมืองและไพร่พลเดินติดตามไป จนมาถึงวันหนึ่ง ช้างได้หยุดอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง แล้วร้องขึ้นสามครั้ง พระยาแก้มดำจึงได้ถือเป็นนิมิตที่ดี จะใช้บริเวณนั้นสร้างเมือง แต่น้องสาวไม่ชอบ พระยาแก้มคำจึงให้สร้างวัด ณ บริเวณดังกล่าวแทน แล้วให้ชื่อว่า วัดช้างให้ แล้วนิมนต์พระภิกษุรูปหนึ่ง ที่ชาวบ้านเรียกว่า ท่านลังกา หรือ สมเด็จพะโคะ หรือ หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด มาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ท่านได้เดินธุดงค์ไปมา ระหว่างเมืองไทรบุรีกับวัดช้างให้ และได้สั่งลูกศิษย์ไว้ว่า ถ้าท่านมรณะภาพ ขอให้นำศพไปทำการฌาปนกิจ ณ วัดช้างให้ ซึ่งเมื่อท่านมรณะภาพที่เมืองไทรบุรี ลูกศิษย์ก็ได้นำศพท่านมา ทำการฌาปนกิจที่วัดช้างให้ อัฐิของท่านส่วนหนึ่งฝังไว้ที่วัดช้างให้ อีกส่วนหนึ่งนำกลับไปเมืองไทรบุรี ต่อมาได้สร้างสถูปบรรจุอัฐิของท่านไว้ที่วัดช้างให้
เมื่อปี พ.ศ. 2480 พระครูมนูญเจ้าอาวาสวัดพลานุภาพ เจ้าคณะตำบลทุ่งพลา ให้พระช่วงมาเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างให้ ท่านได้ชักชวนชาวบ้านมาแผ้วถางป่า สร้างกุฎิ ศาลาการเปรียญ พร้อมเสนาสนะอื่น ๆ จึงได้ชื่อว่า วัดราษฎร์บูรณะ เจ้าอาวาสองค์ต่อ ๆ มาก็ได้บูรณะเพิ่มเติมวัดช้างให้ มาตามลำดับจนถึงปัจจุบัน วัดช้างให้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2500 และผูกพันธสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2501


วัดชลธาราสิงเห (วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย)

สร้างขึ้นปลายรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในสมัยดินแดนตากใบยังเป็นรัฐกลันตัน โดยวัดแห่งนี้ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ เนื่องจากเป็นโบราณสถานที่รัฐบาลใช้เป็นเหตุผลอ้างอิงในการปักปันเขตแดนในปี 2441 ที่มีผลให้ดินแดนแห่งนี้ไม่ต้องผนวกเป็นประเทศมาเลเซีย จึงได้รับสมญานามว่า วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย วัดดังกล่าวยังเป็นศูนย์รวมความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวไทย ในเขตอำเภอตากใบและใกล้เคียง รวมทั้งชาวมาเลเซีย ปัจจุบันมีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษา 7 รูป มีพระไพศาลประชามาศ เป็นเจ้าอาวาส

สวนโมกขพลาราม

อยู่บริเวณเขาพุทธทอง ริมทางหลวงหมายเลข 41 บริเวณกิโลเมตรที่ 134 เดิมชื่อวัดธารน้ำไหล มีท่านพุทธทาสภิกขุเป็นผู้ริเริ่มสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2502 เพื่อเป็นสถานที่แสวงหาความสงบและศึกษาธรรม มีโรงมหรสพทางวิญญาณ ซึ่งประกอบด้วยภาพศิลป์ บทกวี คติธรรมคำสอนในพุทธศาสนานิกายต่าง ๆ ภาพพุทธประวัติ ภาพจำลองจากภาพหินสลัก เรื่องพุทธประวัติในอินเดีย รอบบริเวณร่มรื่น เหมาะสำหรับเป็นที่ฝึกอบรมจิตใจและศึกษา
ที่มาของชื่อ " สวนโมกข์พลาราม " : เราว่าไปคนเดียว คิด คิด คิดไปตามกฎเกณฑ์ หรือตามถ้อยคำที่มีไช้อยู่ และเพื่อขบขันบ้าง เรามันมีนิสัยฮิวเมอริสท์อยู่บ้าง ฟลุคที่ว่ามันมีต้นโมก และต้นพลา ที่สวนโมกข์เก่านั้น เอาโมกกับพลามาต่อกันเข้า มันก็ได้ความหมายเต็มว่า " กำลังแห่งความหลุดพ้น " ส่วนคำว่าอาราม แปลว่า ที่ร่มรื่น ที่รื่นรมย์ เมื่อมันฟลุคอย่างนี้มันก็ออกมาจริงจัง ตรงตามความหมายแท้จริงของธรรมะ มีความหลุดพ้น เรียกว่า " โมกข-พลาราม " เป็นชื่อสำนักป่าที่จัดขึ้นมาเพื่อส่งเสริมวิปัสนาธุระ

วัดมัชฌิมาวาส

เป็นวัดใหญ่และสำคัญที่สุดในจังหวัดสงขลา วัดนี้เป็นวัดโบราณประมาณ 400 ปี เดิมเรียกว่าวัดยายศรีจันทร์ เพราะกล่าวกันว่ายายศรีจันทร์ ได้อุทิศเงินสร้างขึ้น ต่อมาประชาชนพากันเรียกว่า "วัดกลาง"ทั้งนี้เพราะมีผู้สร้างวัดอื่นขึ้นทางทิศเหนือวัดหนึ่ง (วัดเลียบ) และทิศใต้อีก วัดหนึ่ง (วัดโพธิ์) ชาวสงขลา จึงเรียกวัดยายศรีจันทร์ว่า "วัดกลาง" ต่อมาจนทุกวันนี้ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น ภาษาบาลีว่า "วัดมัชฌิมาวาส" โดย พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เมื่อครั้งเสด็จเมืองสงขลา พ.ศ. 2431 นอกจากนี้ในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์ ชื่อ ภัทรศิลป เป็นที่เก็บวัตถุโบราณ ต่าง ๆ ซึ่งรวบรวมได้จากเมืองสงขลา สทิงพระ ระโนด และอื่นๆ ซึ่งเป็นหลักฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ควรค่าแก่การศึกษา

วัดถ้ำขวัญเมือง

ประวัติเดิม ขึ้นทะเบียนเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ โดยมีกำนันขุนพรหมแก้ว ทองคำ และ ผู้ใหญ่สอน จันทร์แก้ว เป็นผู้ถวายที่ดิน พระธรรมรามคณี สุปรีชาสังฆปาโมกข์ (หนู อชิโต) วัดโตนด เจ้าคณะจังหวัดหลังสวน (ธรรมยุต) เป็นผู้รับมอบจำนวน ๒๐ ไร่ และไปสอบถามโยมลุงพรหม (ซึ่งปัจจุบันได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่ออายุ ๙๗ ปี) ซึ่งเป็นเจ้าของร้านขายยา อยู่ที่ตลาดสวี ตำบลนาโพธิ์ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร พอได้เค้าว่าเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๔๓ นั้นมีเจ้าอาวาส (ผู้ดูแล) ๑ องค์ ชื่อ พ่อหลวงพันธ์ พุ่มคง เป็นเจ้าอาวาสอยู่ แต่ไม่ทราบว่าเป็นเจ้าอาวาสอยู่กี่ปี ก็มีพ่อหลวงแดง ฉายา ชิตมาโร เป็นเจ้าอาวาส ๔ - ๕ ปี ต่อจากพ่อหลวงแดงมีพระมาจากไหนไม่ทราบ มาอยู่วัดถ้ำนี้มีชื่อมาตั้งแต่เดิม "วัดถ้ำขวัญเมือง" ไม่ได้ตั้งชื่อตามตระกูล ของตระกูลขวัญเมืองที่มีอยู่ ใกล้ๆวัดตระกูลนี้คงตั้งขึ้นภายหลังโดยเอาชื่อวัดมาตั้งเป็นชื่อสกุล
สมัยก่อนโบราณนั้นก็ใช้ถ้ำเป็นที่อยู่อาศัยของพระเณร เพราะที่วัดนี้มีถ้ำอยู่มาก ตอนหน้าด้านทิศตะวันออก มีถ้ำใหญ่อยู่ ๑ ถ้ำและในถ้ำนี้ก็มีพระประธาน ที่สร้างขึ้นด้วย ปูนทรายปรากฏอยู่นาน พระประธาน นี้มีอยู่แล้วพร้อมกับ พระทรงเครื่อง ที่งดงามมากสูง ๑.๖๖ เมตร ๑ องค์ ปางห้ามสมุทรเนื้อโลหะล้วน และอีก องค์หนึ่งย่อมลงมา เป็นพระไม้ ปางประทับยืน และอีกองค์หนึ่ง เป็นโลหะเช่นเดียวกัน แต่เล็กกว่าตามลำดับสูงประมาณ ๑.๑๕ เมตร แต่เล็ก กว่าตามลำดับสูงประมาณ ๑.๑๕ เมตร เป็นเนื้อโลหะทองเหลืองปางห้ามญาติ
การปรากฏชัดของการเป็นวัดแน่นอนก็มาปรากฏขึ้นเมื่อพ.ศ.๒๔๔๙ กระทรวงศึกษาธิการโดยกรมการศาสนา แห่งกระทรวงศึกษาธิการ มีหนังสือมาถึงวัดยืนยันว่า วัดถ้ำขวัญเมืองนี้ ทางกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัดไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๙ ถ้านับถึงปัจจุบันนี้ก็เป็นเวลา 76 ปี (2526)

ที่มา: http://www.thaigoodview.com/library/studentshow/2549/m6-2/no04-06/temple/index183.htm
http://student.swu.ac.th/
www.siamfreestyle.com/forum/index.php?showtopic=487
0 Responses

แสดงความคิดเห็น